การเรียนรู้แบบออนไลน์กับแบบผสมผสาน แบบใดดีกว่ากัน?
by
ในโลกยุคก่อนเทคโนโลยี รูปแบบการสอนดั้งเดิมมักพึ่งพาสื่อสิ่งพิมพ์เป็นหลัก ดังเช่นการใช้สมุดนักเรียนสำหรับงานในชั้นเรียน และสมุดแบบฝึกหัดสำหรับการบ้าน
แนวทางดังกล่าวเป็นที่ยอมรับว่าได้ผลดี และที่ผ่านมารากฐานโครงสร้างของชั้นเรียนก็ไม่ค่อยแตกต่างไปจากเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปในปัจจุบันก็คือ การแพร่หลายของเทคโนโลยีและบทบาทของเทคโนโลยีในโลกการศึกษา เมื่อเราถูกรายล้อมด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า รูปแบบการเรียนการสอนก็ย่อมเปลี่ยนไปเช่นกัน
ตลับเทปเคยถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการศึกษาในยุคปี 1970 และ 80 จากนั้นเราก็เริ่มก้าวเข้าสู่ความล้ำหน้าทางคอมพิวเตอร์ในช่วงปี 1990 ซึ่งปูทางสู่การใช้คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กอย่างหลากหลายในชั้นเรียน นับตั้งแต่นั้นมาเราก็เริ่มเล็งเห็นโอกาสของการสอนแบบออนไลน์ ในฐานะแนวทางการสอนรูปแบบใหม่ที่ช่วยเสริมการเรียนรู้แบบดั้งเดิม
แม้เทคโนโลยีในช่วงนั้นมีข้อจำกัด แต่ก็ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของการสอน เพราะทำให้นักการศึกษาตระหนักว่า การเรียนการสอนสามารถเกิดขึ้นได้นอกชั้นเรียน และก่อให้เกิดประโยชน์มหาศาลต่อผู้เรียน
ภายใต้บริบทของการสอนภาษาอังกฤษ ปัจจัยบางส่วนมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนรู้ อันประกอบด้วย: ความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นของผู้เรียนที่อยากเข้าถึงข้อมูลในทุกเวลาที่ต้องการ, การแข่งขันที่เพิ่มขึ้นเพื่อให้เป็นที่สนใจ และวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ท้ายสุดแล้ววิธีที่เราเรียนรู้มิได้เป็นเส้นตรง และแต่ละคนมีแนวทางการเรียนรู้ในแบบของตนเอง ดังนั้นผู้สอนจึงยังคงพบกับความท้าทายในการออกแบบแนวทางที่เหมาะสมสำหรับผู้เรียนภาษาอังกฤษยุคใหม่ แล้วแนวทางใดดีที่สุด?
ลองมาทำความรู้จักการเรียนรู้แบบออนไลน์และการเรียนรู้แบบผสมผสาน ไม่ว่าจะเป็นแบบผสมระหว่างชั้นเรียนและออนไลน์ การเรียนรู้แบบเฉพาะบุคคล การเรียนรู้แบบดิจิทัล ฯลฯ เรามักได้ยินนิยามเหล่านี้อยู่บ่อยครั้ง แต่ก็ยังไม่ชัดเจนอยู่ดีว่าแต่ละอย่างมีลักษณะและการทำงานอย่างไรในการปฏิบัติจริง
ทำความรู้จักกับแนวทางการเรียนรู้แบบออนไลน์
การเรียนรู้แบบออนไลน์คืออะไร? แนวทางดังกล่าวก็คือสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่อยู่บนโลกออนไลน์ ผู้เรียนสามารถฝึกฝนได้บ่อยครั้งตามที่ต้องการ ทำการบ้านในเวลาที่สะดวก และสามารถควบคุมการเรียนรู้ของตนเอง
คุณคาโย ทางุชิ ผู้จัดการฝ่ายดูแล ELT (English Language Teaching) ของ Pearson Asia กล่าวว่า แง่มุมที่เป็นประโยชน์สูงสุดของแนวทางการสอนแบบออนไลน์ก็คือ ปริมาณข้อมูลมหาศาลที่เราจะได้รับ นั่นหมายถึงเราสามารถติดตามความคืบหน้า วิเคราะห์ตัวเลขต่างๆ ที่บ่งบอกลักษณะของผู้เรียนแต่ละคน และสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการเรียนรู้ได้ในที่สุด
“ผู้สอนสามารถสร้างสภาพแวดล้อมชั้นเรียนแบบออนไลน์ ซึ่งรองรับกิจกรรมโต้ตอบได้หลากหลาย เช่น แบบสำรวจความคิดเห็น ห้องเรียนย่อย ตลอดจนกิจกรรมกลุ่มในรูปแบบออนไลน์ สิ่งที่ได้รับก็คือ โอกาสที่ผู้เรียนสามารถเปลี่ยนไปทำการบ้านนอกชั้นเรียน หรือแม้แต่การศึกษาเพิ่มเติมตามเวลาที่ตนเองสะดวก ซึ่งเป็นไปได้ด้วยสภาพแวดล้อมแบบออนไลน์”
แม้แนวทางการเรียนรู้แบบออนไลน์ทำให้ผู้เรียนเกิดความสร้างสรรค์ในการทำการบ้านและการศึกษาเพิ่มเติมนอกหลักสูตรตามแนวทางของตนเอง แต่การใช้แนวทางแบบออนไลน์เพียงอย่างเดียวก็มีความท้าทายเช่นกัน
ในมุมมองของคุณคาโย แนวทางดังกล่าวต้องพึ่งพาการเข้าถึงเทคโนโลยี ต้องมีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่ดี และผู้เรียนต้องมีวินัย
“มีแง่มุมด้านเทคโนโลยีที่เราต้องคำนึงถึงเมื่อจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ เช่น เมื่อไม่สามารถสื่อสารได้โดยไม่ตั้งใจ หรือหากผู้เรียนไม่มีคอมพิวเตอร์ หรือเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ไม่ต่อเนื่อง หรือผู้เรียนสนใจสิ่งอื่นบนโทรศัพท์ นี่คือความท้าทายที่พบได้ทั่วไป”
สำหรับผู้สอนก็ต้องพบกับปัจจัยด้านการบริหารจัดการที่ต้องคำนึงถึงในการนำชั้นเรียนขึ้นระบบออนไลน์ อีกทั้งยังต้องศึกษาทักษะใหม่ๆ ของแพลตฟอร์มเพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากสภาพแวดล้อมชั้นเรียนแบบออนไลน์
คุณคาโยกล่าวว่า แนวทางการสอนแบบออนไลน์จะมีประสิทธิภาพสูง หากได้รับการฝึกฝนและเตรียมวางแผนไว้อย่างชัดเจน
“ตัวอย่างเช่น หากผู้เรียนขาดเรียน ผู้สอนก็สามารถมอบวิดีโอบันทึกการสอนแบบออนไลน์ หรือไฟล์ PDF ที่มีเนื้อหาภาพรวมของบทเรียนให้แก่ผู้เรียน และในช่วงเวลาที่ไม่ปกติอย่างเช่นกรณีของโควิด-19 คุณก็สามารถเข้าเรียนหลักสูตรต่างๆ ได้จากทุกที่ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาชั้นเรียนแบบเดิมอีกต่อไป”
แล้วแนวทางการเรียนรู้แบบผสมผสานคืออะไร?
ดังความหมายที่แฝงไว้ในชื่อดังกล่าว การเรียนรู้แบบผสมผสานก็คือ การผสมผสานระหว่างสองรูปแบบ ได้แก่ การเรียนรู้แบบดั้งเดิมและการเรียนรู้แบบออนไลน์ หากถ่ายทอดออกมาในรูปแบบแผนภาพเวนน์ เราจะได้แผนภาพดังนี้:
- พื้นที่ A แทนการเรียนรู้แบบออนไลน์
- พื้นที่ B แทนการเรียนรู้แบบดั้งเดิม
- ยูเนียนของ A และ B แทนการเรียนรู้แบบผสมผสาน