ก้าวนำอนาคต: ประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็วในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะรับมือกับช่องว่างทางทักษะอย่างไร
ประเทศต่างๆ อาทิ เวียดนามและไทย อยู่ในสถานะที่เหมาะอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนทิศทางเรื่องการให้ความสำคัญภาคการศึกษา และมอบทักษะที่จำเป็นแก่เยาวชนเพื่อความสำเร็จในโลกยุคดิจิทัล
โลกของการทำงานกำลังเปลี่ยนไป ซึ่งท้ายสุดล้วนขึ้นอยู่กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ผู้เรียน สถานศึกษา และหน่วยงานภาครัฐ ที่ต้องพิเคราะห์และปรับตัวให้เข้ากับกระแสล่าสุด เพื่อเตรียมตัวและส่งเสริมให้ผู้เรียนมีทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานในอนาคต
งานวิจัยจาก Pearson ระบุว่า จำนวนแรงงานในภูมิภาคดังกล่าวมีเพียงพอและคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ที่น่ากังวลและทำให้เศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องชะงักตัวก็คือ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ โดยทักษะด้านความรู้ (hard skills) เช่น ความสามารถเชิงเทคนิค และทักษะด้านอารมณ์ (soft skills) เช่น การสื่อสาร รวมถึงความตั้งใจในการใฝ่รู้ตลอดเส้นทางอาชีพ ถือเป็นสิ่งสำคัญในการลดช่องว่างเรื่องการขาดแคลนทักษะ และจะทำให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างทัดเทียม
นักเรียนที่ในวันนี้กำลังพิจารณาว่าจะศึกษาด้านใดและอย่างไร จะเข้าสู่ตลาดแรงงานในปี 2030 ซึ่งเป็นโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน โดยรายงานสภาวะตลาดจาก McKinsey ระบุว่า เราควรเริ่มเปลี่ยนแปลงตั้งแต่โรงเรียนประถม มิเช่นนั้นในปี 2030 ผู้เรียนวัยเยาว์เหล่านี้จะพบว่าตนเองกำลังประกอบวิชาชีพอันไม่เป็นที่ต้องการอีกต่อไป ดังนั้นจึงสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องบ่มเพาะให้ผู้เรียนมีความยืดหยุ่น สามารถปรับตัว และเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ควบคู่ไปกับก้าวย่างทางการศึกษาและอาชีพ
กุญแจสำคัญที่บ่งชี้ถึงลักษณะการทำงานของเราในอนาคตอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลบนโลกของเราที่เดินหน้าไม่หยุดนิ่ง หรือที่เรียกกันว่า “การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4” โดยกระแสเรื่องโลกาภิวัตน์และระบบอัตโนมัติยังเปลี่ยนแปลงวิธีทำธุรกิจของบริษัทต่างๆ ซึ่งทักษะการเรียนรู้ที่ช่วยเสริมภูมิทัศน์ทางอาชีพที่กำลังเปลี่ยนไปถือเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จในอนาคต
โอกาสอันล้ำค่า
โชคดีที่ประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทยและเวียดนาม มีโอกาสที่ดีด้านการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุง ปัจจุบันแรงงานชาวเวียดนามกว่าครึ่งและแรงงานชาวไทยกว่าสามในสี่อยู่ในกลุ่มแรงงานที่มี “ทักษะระดับกลาง” ตามข้อมูลล่าสุดจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ
ทั้งสองประเทศกำลังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่าน ย้ายฟากจากการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ไปสู่เศรษฐกิจบนฐานความรู้ที่มีพลวัตมากขึ้น อันถือเป็นโอกาสที่ดีของทั้งสองประเทศในการปรับทรรศนะด้านความสำคัญทางการศึกษา และเสริมชุดทักษะที่จำเป็นต่ออนาคตให้แก่ประชากรของตน
รัฐบาลของประเทศเหล่านี้ไม่ได้มีเป้าหมายในภายภาคหน้าเพียงแค่การมุ่งเป้าขยายอัตราส่วนจำนวนแรงงานที่มีทักษะ แต่รวมถึงการผลิตแรงงานที่ดีเยี่ยมจนสามารถแข่งขันในตลาดโลก อันจะช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศได้มากขึ้น
ดังนั้นสำหรับทั้งสองประเทศ การศึกษาระดับอาชีวศึกษาจึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนสถานศึกษาที่ดำเนินโครงการต่างๆ เช่น หลักสูตรอาชีวศึกษาเชิงประสบการณ์อย่าง BTEC จาก Pearson
การศึกษาที่รอบด้าน
ฝ่ายบริหารของไทยและเวียดนามต่างล้วนต้องการสร้างพัฒนาการทางทักษะด้านความรู้อันเป็นความสามารถเชิงเทคนิคที่เรียนรู้ได้เป็นการเฉพาะ เช่น คุณวุฒิทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ความชำนาญด้านการอ่านและการเขียน ตลอดจนการทักษะการนำเสนอและการบริหารโครงการ
คุณสจ๊วต คอนเนอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายคุณวุฒิและการประเมินของ Pearson Asia ระบุว่า ทักษะเฉพาะเหล่านี้ควรได้รับการสอนโดยตรง ขณะเดียวกันก็ยังกล่าวเสริมด้วยว่า ทักษะด้านอารมณ์ที่แม้เป็นเรื่องทั่วไปและติดตัวมาแต่กำเนิด ก็ถือว่ามีความสำคัญไม่แพ้กัน อันประกอบด้วยทักษะระหว่างบุคคลอย่างความสามารถในการทำงานร่วมกัน การสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ และความเข้าใจในเพื่อนร่วมงาน
ที่สำคัญไม่แพ้กันอีกเรื่องก็คือทักษะด้านอารมณ์เกี่ยวกับการสื่อสาร อย่างการสอนให้ผู้เรียนสามารถทำงานร่วมกันภายใต้วัฒนธรรม พื้นที่ และภาษาที่ต่างกัน ซึ่งคุณไซมอน ยัง ผู้จัดการฝ่ายดูแล BTEC ในเอเชียของ Pearson มองว่า ส่วนสำคัญของทักษะด้านนี้ก็คือ ความมั่นใจในภาษาอังกฤษซึ่งถือเป็นสื่อกลางการสื่อสารหลักระดับสากล
“ดูเหมือนว่าภาษาอังกฤษได้กลายเป็นทักษะสำคัญสำหรับการสื่อสารธุรกิจในทุกบทบาทหน้าที่” คุณไซมอนกล่าว “ในประเทศต่างๆ เช่น ประเทศไทย ซึ่งมีแรงงานในพื้นที่อันเข้มแข็ง การปฏิสัมพันธ์ระหว่างแผนกต่างๆ ล้วนจำเป็นต้องอาศัยความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษอย่างมาก”
ในยุคที่ธุรกิจระดับโลกเชื่อมโยงถึงกันมากขึ้นและพรมแดนหมดความสำคัญลง แรงงานจำนวนมากเริ่มตระหนักว่า ภาษาอังกฤษมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาอาชีพ ดังเห็นได้จากงานวิจัยของ Pearson ที่พบว่า พนักงานกว่า 9 ใน 10 คน ยอมรับว่าเรื่องดังกล่าวมีความสำคัญ ส่วนตัวเลขที่เหลือซึ่งน้อยกว่า 1 ใน 10 นั้นเห็นว่า ความสามารถด้านภาษาอังกฤษที่มีถือว่าเพียงพอแล้วกับตำแหน่งงานของตน นี่จึงถือเป็นช่องว่างทางทักษะอันสำคัญที่ควรใส่ใจ เพราะความชำนาญด้านภาษายังถือเป็นหัวใจในการขัดเกลาทักษะด้านอารมณ์หลายเรื่อง
“ทักษะด้านภาษาเพียงอย่างเดียวไม่ช่วยให้คุณได้งาน แต่คุณจะมีโอกาสถูกว่าจ้างมากยิ่งขึ้นหากมีทักษะด้านภาษา เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยในการพัฒนาทักษะอื่นๆ อีกหลายด้าน [เช่น การสื่อสารและการทำงานร่วมกัน] อันจำเป็นต่อการจ้างงาน” คุณสจ๊วตกล่าว “หากคุณเป็นคนเวียดนามหรือคนไทย และสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ นั่นหมายถึงคุณก็มีทักษะด้านอารมณ์อีกหลายเรื่องไปโดยปริยาย”
มุ่งเป้าที่ข้อมูลและดิจิทัล
เช่นเดียวกับการที่ภาษาอังกฤษเป็นหัวใจของการสื่อสาร ทักษะด้านดิจิทัลโดยเฉพาะความสามารถในการอ่านข้อมูล กำลังกลายเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในสถานที่ทำงานในยุคเศรษฐกิจกระแสใหม่
ข้อมูลจากการสำรวจช่องว่างทางทักษะด้านดิจิทัลโดยกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก พบว่า นายจ้างและบุคลากรภาคการศึกษาและภาครัฐกว่า 75% ตระหนักถึงความไม่เข้ากันของทักษะ “อย่างชัดเจน” ในกลุ่มผู้ที่ก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน “หากปราศจากแผนการยกระดับทักษะเพื่อเสริมสร้างความชำนาญด้านดิจิทัล แรงงานจำนวนมากอาจสูญเสียงานให้แก่ระบบอัตโนมัติในที่สุด” รายงานดังกล่าวระบุ
ขณะเดียวกันงานวิจัยยังพบว่า นายจ้างทั่วเอเชีย-แปซิฟิกให้รางวัลตอบแทนแก่ทักษะด้านข้อมูลเชิงปฏิบัติเหนือกว่าคุณวุฒิทางการศึกษา อันเน้นย้ำถึงความสำคัญของหลักสูตรอย่าง BTEC กล่าวได้ว่าความสามารถในการพิเคราะห์และตีความข้อมูลหลักกำลังมีความสำคัญมากขึ้นในหน้าที่การงานหลายตำแหน่ง รวมถึงตำแหน่งที่เดิมทีไม่ได้เกี่ยวข้องกับการประมวลข้อมูล
“ข้อมูลช่วยให้คุณเข้าใจความต้องการของลูกค้า ขณะเดียวกันก็มอบข้อมูลเชิงลึกในด้านต่างๆ ที่ทำให้ทราบว่า เราควรปรับปรุงสินค้าและบริการในเรื่องใด” คุณเจสัน เกรกอรี ผู้อำนวยการฝ่าย BTEC และการฝึกหัดวิชาชีพของ Pearson กล่าว “ที่สำคัญการวิเคราะห์ข้อมูลยังเป็นทักษะหลักที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถตัดสินใจตามหลักฐานเชิงประจักษ์”
การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจกระแสใหม่กำลังเกิดขึ้นในโลกที่เต็มไปด้วยระบบอัตโนมัติ ซึ่งคุณเจสันมองว่า แม้ผู้เรียนในวันนี้ซึ่งจะกลายเป็นแรงงานในอนาคตจะไม่ได้ลงมือปฏิบัติงานในสายการผลิตเช่นในอดีต แต่ก็ต้องทำงานร่วมกับหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจำนวนมาก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องทราบวิธีอ่านและจัดการข้อมูลจากจักรกลเหล่านี้
“การวิเคราะห์จุดข้อมูลและเทคโนโลยีต่างๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะคุณต้องเข้าใจว่าข้อมูลดังกล่าวสื่อถึงสิ่งใด และต้องสามารถลงมือจัดการได้อย่างเหมาะสม”
การเรียนรู้ตลอดชีวิต
แม้การส่งเสริมให้ผู้เรียนได้รับทักษะด้านความรู้และทักษะด้านอารมณ์โดยครบถ้วนจะถือเป็นหัวใจหลัก แต่ก็ต้องไม่ลืมที่จะแทรกซึมวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต
การเพิ่มทักษะใหม่ การยกระดับทักษะ และการฝึกอบรมขั้นสูง ควรได้รับการส่งเสริมอย่างต่อเนื่องในระบบการศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความคล่องตัวและสามารถเบนเข็มไปศึกษาทักษะใหม่ๆ ตามการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานที่จะเกิดขึ้น และในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการก้าวสู่เศรษฐกิจกระแสใหม่ สถานศึกษาและธุรกิจต่างๆ ต้องปลูกฝังผู้เรียนและแรงงานให้มีความตั้งใจที่จะศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมตลอดช่วงอาชีพการทำงาน
เรื่องดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะความต้องการทักษะทางเทคนิคเฉพาะด้านซึ่งมีความสำคัญในปัจจุบัน อาจเปลี่ยนไปในทางที่คาดเดาไม่ได้ตามการปรับตัวทางเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงในที่ทำงาน
“การเรียนรู้ไม่เคยสิ้นสุด” คุณเจสันกล่าว “[ผู้เรียน] ต้องปรับปรุงทักษะทางเทคนิคอย่างต่อเนื่อง เพราะอุตสาหกรรมก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกัน [พวกเขา] ก็ต้องมีทักษะทางพฤติกรรมที่เปรียบได้กับสินทรัพย์ที่รอบด้านสำหรับธุรกิจระดับโลก”