โลกของการทำงานกำลังเปลี่ยนไป ทักษะใดที่คุณควรต้องมีเพื่อให้ถูกว่าจ้าง

โลกของการทำงานมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โลกาภิวัตน์ ระบบอัตโนมัติ และความล้ำหน้าทางเทคโนโลยี กำลังมอบโอกาสให้แก่แรงงานในอนาคต ขณะเดียวกันก็เป็นความท้าทายที่ต่างไปจากเดิมสำหรับนายจ้างทั่วโลก ภายใต้สถานการณ์ที่เรากำลังก้าวเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4  

ขณะที่เหล่าผู้นำธุรกิจกำลังควบคุมกิจการเพื่อปรับตัวรับกระแสการเปลี่ยนแปลง แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายรายมองว่า เราเพิ่งกำลังอยู่ในช่วงต้นของการไขว่คว้าความเป็นไปได้ที่ความล้ำหน้าต่างๆ อาทิ การเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลกำลังจัดระเบียบการทำงานยุคใหม่

ทักษะอันเป็นที่ต้องการของบริษัทระดับโลกอาจถูกแบ่งตามบริบทได้สองส่วน คือ ทักษะด้านอารมณ์และทักษะด้านความรู้ ซึ่งแม้ทักษะเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ถือเป็นเรื่องสำคัญในยุคปัจจุบันที่ผู้เรียนต้องไขว่คว้าเพื่อเพิ่มโอกาสการถูกว่าจ้าง และท้ายสุดเพื่อเตรียมกรอบการทำงานอันนำไปสู่เส้นทางอาชีพที่ประสบความสำเร็จ 

ทักษะด้านอารมณ์และทักษะด้านความรู้คืออะไร? 

ทักษะด้านอารมณ์หรือทักษะทางสังคม (soft skills) จัดเป็นทักษะระหว่างบุคคลหรือลักษณะอุปนิสัยที่สำคัญ ที่ช่วยให้เรามีความสามารถในการจัดการงานจนสำเร็จได้ในระดับสูง อาทิ ทักษะความเป็นผู้นำ การร่วมมือ การคิดเชิงวิพากษ์ และการแก้ไขปัญหา ส่วนทักษะด้านความรู้ (hard skills) เป็นเรื่องเกี่ยวกับความรู้ทางเทคนิค เช่น ทักษะการนำเสนองาน ทักษะการบริหารโครงการ หรือเรื่องการอ่านและเขียน 

คุณสจ๊วต คอนเนอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายคุณวุฒิและการประเมินของ Pearson Asia กล่าวว่า ทักษะเด่นอันเป็นที่ต้องการมีอยู่หกด้านด้วยกัน ซึ่งบรรดานายจ้างระดับโลกต่างมองหาทักษะเหล่านี้อย่างเข้มข้นเมื่อมีการเปิดรับพนักงานใหม่ โดยประกอบด้วย: 

  • ความเข้าใจด้านดิจิทัล - ความสามารถในการใช้ประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยีที่มี 
  • ทักษะการขาย - ความสามารถในการสร้างสัมพันธ์และจูงใจผู้อื่น 
  • การวิเคราะห์ข้อมูล - ความสามารถในการตีความข้อมูลเพื่อการตัดสินใจอย่างเหมาะสม 
  • การสื่อสาร - ความสามารถในการร่วมมือกันอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างวัฒนธรรม พื้นที่ และภาษา 
  • การเรียนรู้อย่างว่องไว - ความสามารถในการเรียนรู้ ไม่ยึดติดกับความรู้เดิม เรียนรู้ด้วยมุมมองใหม่ และสามารถประยุกต์การเรียนรู้ได้จริง 
  • นวัตกรรม - ความสามารถในการรู้แจ้งและปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลง 

คุณสจ๊วตมองว่า ปัญญาประดิษฐ์จะสร้างผลกระทบเพิ่มขึ้นอย่างมากต่อวาระแรงงานระดับโลก ดังนั้นการก้าวนำไปข้างหน้าก่อนใครจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อผู้เรียนในปัจจุบัน  

"แรงงานที่ใช้เทคโนโลยีได้ดีจะมีความได้เปรียบ และมีข้อมูลบ่งชี้ว่า บริษัทต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จในการใช้ปัญญาประดิษฐ์ จะมีผลิตภาพสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ใช้ถึง 12 เปอร์เซ็นต์ เพราะสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์จริงในสาขาของตน ซึ่งความสามารถในการใช้เทคโนโลยีถือเป็นกุญแจสำคัญ ดังนั้นนายจ้างจึงต้องการว่าจ้างบุคคลที่มีทักษะดังกล่าว" 

ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางการสื่อสารระดับโลกจริงหรือไม่? 

คุณไซมอน ยัง ผู้จัดการฝ่ายดูแล BTEC ในเอเชียของ Pearson ระบุว่า ในยุคปัจจุบันที่ห่วงโซ่อุปทานและฐานลูกค้ามีความเป็นสากลระดับโลกอย่างแท้จริง บริษัทข้ามชาติต่างมองว่าความชำนาญภาษาอังกฤษถือเป็นทักษะสำคัญ 

"ดูเหมือนว่าภาษาอังกฤษได้กลายเป็นทักษะสำคัญสำหรับการสื่อสารธุรกิจในทุกบทบาทหน้าที่ ดังนั้นในประเทศต่างๆ เช่น ประเทศไทย ซึ่งมีแรงงานในพื้นที่อันเข้มแข็ง การปฏิสัมพันธ์ระหว่างแผนกต่างๆ ล้วนจำเป็นต้องอาศัยความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษอย่างมาก กล่าวได้ว่าภาษาอังกฤษได้กลายเป็นสื่อกลางการสื่อสารระดับโลก" 

นอกจากทักษะต่างๆ ที่ธุรกิจทั่วโลกต้องการ หน่วยงานภาครัฐทั้งในไทยและเวียดนามต่างเร่งออกนโยบายจำนวนมากตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของการพัฒนาความชำนาญภาษาอังกฤษให้แรงงานรุ่นใหม่  

เพราะความสามารถเหล่านี้ช่วยดึงดูดการลงทุนทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น การบังคับใช้นโยบายต่างๆ ดังกล่าว สื่อได้ว่าทั้งรัฐบาลไทยและเวียดนามต่างเล็งเห็นคุณค่าของการเรียนภาษา ว่าเป็นส่วนสำคัญของความสำเร็จทางวิชาชีพ เช่นเดียวกับมุมมองของนายจ้างระดับโลก 

คุณสจ๊วตกล่าวว่า ทักษะภาษาอังกฤษช่วยเสริมความสามารถของทักษะด้านอารมณ์ที่นายจ้างต้องการในหลายทาง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับความสามารถส่วนบุคคลและทางสังคม เช่น การร่วมมือ การสร้างเครือข่าย และการเข้าใจผู้อื่น  

ขณะที่ลูกจ้างมองว่าความชำนาญภาษาอังกฤษมีส่วนสำคัญในความก้าวหน้าทางอาชีพ แต่คุณสจ๊วตกล่าวว่า แรงงานคลื่นลูกใหม่ยังมีภารกิจที่ต้องจัดการและยังมีคุณประโยชน์รออยู่ภายหน้าอีกมาก ในเรื่องที่เกี่ยวกับการฟูมฟักทักษะภาษาอังกฤษของตน 

"จากการสำรวจของ Pearson เมื่อปี 2015 ซึ่งสอบถามลูกจ้างข้ามชาติกว่า 26,000 คน พบว่า กว่า 92 เปอร์เซ็นต์ เล็งเห็นความสำคัญของภาษาอังกฤษที่มีต่อความก้าวหน้าทางอาชีพ แต่มีเพียง 7% เท่านั้นที่มั่นใจว่าตนเองสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวถือเป็นช่องว่างที่กว้างมาก 

"แต่หนึ่งในคุณประโยชน์หลักของการมีความชำนาญภาษาที่สองก็คือ การช่วยขัดเกลาทักษะด้านอารมณ์ในหลายส่วน" ทักษะภาษาเพียงอย่างเดียวไม่ช่วยให้คุณได้งาน แต่คุณจะมีโอกาสถูกว่าจ้างมากยิ่งขึ้นหากมีทักษะภาษา เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยในการพัฒนาทักษะอื่นๆ อีกหลายด้าน อันจำเป็นต่อการจ้างงาน เมื่อนายจ้างคำนึงถึงช่องว่างของทักษะด้านอารมณ์ เช่น การสื่อสารและการร่วมมือ ความรู้ทางภาษาเพิ่มเติมจะมีประโยชน์อย่างมาก 

"หากคุณเป็นคนเวียดนามหรือคนไทย และสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ นั่นหมายถึงคุณก็มีทักษะด้านอารมณ์อีกหลายเรื่องไปโดยปริยาย"